กฎหมายคลายล็อกกัญชาที่คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็ววัน อาจต้องชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง แม้ร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และส่งกลับไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่มีความห่วงใยกรณีที่บริษัทต่างชาติขอจดสิทธิบัตรการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีเสียงเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกคำขอ
สนช.ส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เห็นว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดต้องห้าม จึงไม่อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่จะได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี และเป็นห่วงว่าเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ต่างชาติจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตร และกระทบต่อหน่วยราชการและมหาวิทยาลัยของไทย
องค์กรภาคประชาชนเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปกป้องสิทธิของประเทศด้วยการเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติ มิฉะนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และร้องเรียนต่อรัฐมนตรี หากไม่ดำเนินการจะสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยรังสิตผู้เสียหาย ฟ้องต่อศาลปกครองและศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เพิกถอนคำขอของต่างชาติ
ร่างกฎหมายฉบับใหม่เป็นเพียงกฎหมาย “คลายล็อก” กัญชายังไม่ได้ปลดล็อก ยังถือว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ เพียงแต่ยกเว้นให้นำมาใช้เป็นยารักษาโรคเฉพาะได้ กฎหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นผู้ควบคุมการปลูก การคัดสายพันธุ์ และพื้นที่เพาะปลูก บุคคลทั่วไปไม่สามารถปลูกได้
เป็นการคลายล็อกกัญชาช้าๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ผลีผลามปลดล็อกเป็น “กัญชาเสรี” เริ่มต้นด้วยการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ถ้าเห็นว่าได้ผลดี และสามารถควบคุมการปลูกและการใช้กัญชาได้ อาจมีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายประโยชน์ทางการแพทย์ โดยอาจพัฒนาให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ เป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ
วงการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัญชาระบุว่า กัญชาไทยมีคุณภาพดีระดับโลก อาจเป็นเพราะปลูกในพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงอาจกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังบรรดาประเทศที่ไม่ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่อาจใช้เป็นยารักษาโรคร้ายบางอย่าง ตลาดใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐส่วนใหญ่มีกฎหมายถอดกัญชาออกจากยาเสพติด
แต่กว่าประเทศไทยจะเดินไปถึงจุดนั้น จะต้องทดสอบจนมั่นใจว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตรงไปตรงมา ไม่มีลูบหน้าปะจมูก และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กัญชาเป็นธุรกิจผูกขาดของต่างชาติ หรือของกลุ่มทุนใหญ่ แต่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับอานิสงส์ ถ้าทำได้จริง อาจทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานของเราหลุดพ้นจากความยากจน.